โมเดล 7 จุดอ่อนของมนุษย์
2020-07-08 Games 9472020-07-08 Games
โมเดล 7 จุดอ่อนของมนุษย์ ( Model of 7 Human Weaknesses ) โดย ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
1. อคติ
คือ ทางลบ ความรู้สึกไม่ดี ต่อบางสิ่งบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถประเมินสิ่งนั้นอย่างยุติธรรม ตามเหตุและผลข้อเท็จจริงได้ เช่น อคติต่อคนผิวดำ จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนเหมือนกันไม่ว่าจะคนชาติไหน ผิวพรรณแบบใด แต่บางทีเรามีอคติต่อคนที่ไม่เหมือนกับเรา คำคมหนึ่งที่ผมเขียนไว้ “มี อคติ มัก ขาดสติ” คือ เราจะไม่รู้ตัวเมื่อมีอคติ
2. ลำเอียง
คือ ทางบวก ความรู้สึกดีต่อบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ก่อน ทำให้ไม่สามารถประเมินสิ่งนั้นอย่างยุติธรรมตามเหตุผลและข้อเท็จจริงได้ เช่น เข้าข้างบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ทั้งๆ ที่ไม่สมควร ไม่มีจุดยืนที่มีหลักมีเกณฑ์ ให้เราระมัดระวัง เพราะ “ความลำเอียงจะเป็นจุดอ่อน หากใช้โดยเห็นแก่ตัว”
3. อารมณ์นำเหตุผล
การใช้อารมณ์เหนือเหตุผล คือ การการตัดสินใจแสดงพฤติกรรมบางอย่าง ภายใต้การควบคุมบงการของอารมณ์ หลังจากถูกกระทบด้วยสิ่งต่างๆ ภายนอก อารมณ์ควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อเราแก้ไขให้เราคิดตามความถูกต้อง อารมณ์ก็จะถูกต้อง เช่น เราไม่โกรธเพราะเราเกิดความเข้าใจ และเราสามารถใช้อารมณ์ทางบวกได้ คือ เราสามารถโกรธคนทางบวกได้ เช่น เห็นคนถูกทำร้ายร่างกาย เราสามารถโกรธได้ อารมณ์ต้องไหลตามความถูก ไม่ใช่ไหลตามความผิด
4. ตรรกะวิบัติ
ตรรกะวิบัติ หรือ เหตุผลวิบัติ คือ การให้เหตุผลผิดในการพิสูจน์ข้ออ้าง เพื่อสนับสนุนข้อสรุปของตัวเองว่าเป็นจริง คนเราใช้เหตุผลและมีเหตุผล ถ้าเราใช้ในทางที่ถูกก็ดีไป แต่บังเอิญคนใช้เหตุผลผิดโดยไม่รู้ตัว ตรรกะวิบัติเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะตัดสินใจผิด เช่น ถ้าบอกว่าปลาทุกชนิดออกลูกเป็นไข่ เต่าออกลูกเป็นไข่ สรุปว่าเต่าเป็นปลา เป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง แต่ชีวิตจริงมีตรรกะวิบัติอยู่หลายสิบแบบ เกิดการอ้างสิ่งนั้นสิ่งนี้มากมาย
5. ตีความผิด
คือ การรับรู้ วินิจฉัย ประเมิน และตัดสินคนหรือเหตุการณ์ต่างๆ จากมุมมองของตัวเอง ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง ตีความผิดเป็นสิ่งที่ร้ายแรง เช่น มีคนถ่ายรูปได้ในขณะที่แม่ค้ายื่นเงินให้ตำรวจ ตีความว่า แม่ค้าติดสินบนให้ตำรวจ เพราะภาพลักษณ์ของตำรวจไทยถูกมองแย่ตลอด เรามักตีความแง่ร้ายเป็นการติดสินบน แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น แม่ค้าอาจจะเป็นภรรยาตำรวจ และให้เงินสามีใช้รายวัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นก่อนจะทำอะไรต้องตัดสินใจอย่าตีความ คิดให้ดีๆ ก่อนว่าใช่หรือไม่ ถ้าหากเราตีความผิดความเสียหายก็จะเกิดขึ้น
6. อีโก้นำ
การให้อีโก้นำ คือ การเอาตัวเองเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลาง เอาแต่ศักดิ์ศรีและความคิดจิตใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ ความต้องการ ไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น ไม่สนใจถูกผิด หรือผลกระทบเชิงลบที่จะตามมา การให้อีโก้นำ ทำให้คนตัดสินใจผิดบ่อยๆ และในที่สุดความเสียหายจะตามมา
7. ผลประโยชน์ส่วนตัว
การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คือ การตัดสินใจเลือกทำบางสิ่งบางอย่าง เพราะมุ่งหวังประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อสนองความพึงพอใจของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดแก่ผู้อื่นและส่วนรวม
เราจะกำจัดจุดอ่อนเหล่านี้ได้อย่างไร?
- มีปรัชญาที่ถูกต้อง
คือ มีความเชื่อที่ว่า “คนทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” เราจะให้ความเป็นธรรมกับเพื่อนมนุษย์มากขึ้น และจุดอ่อนภายในความคิดและจิตใจ จะค่อยๆ ถูกกำจัดไป โดยต้องหมั่นฝึกฝนและควบคุมตนเองให้ได้ อย่าให้ “อคติ” ทำให้ “ขาดสติ”
- มีความคิดที่ถูกต้อง
คิดครบถ้วน 10 มิติ , คิดแง่บวก, คิดสร้างสรรค์ไม่ทำลาย
หลักคิดเชิงวิพากษ์ 3 หลัก สามารถเอาชนะหลุมพรางของตรรกะวิบัติได้
.... หลักที่ 1 อย่าเพิ่งเชื่อ…ให้สงสัยไว้ก่อน
.... หลักที่ 2 เผื่อใจไว้…อาจจะจริง หรือ อาจจะไม่จริงก็ได้
.... หลักที่ 3 เป็นพยานฝ่ายมาร…ตั้งคำถามซักค้าน
- ใช้อารมณ์อย่างถูกต้อง
อารมณ์เกิดขึ้นกับเราได้ แต่ต้องไม่อนุญาตให้ควบคุมความคิดหรือการตัดสินใจ
“ใครให้อารมณ์เป็นใหญ่ มักจะต้องเสียใจตลอดชีวิต”
- สื่อสารอย่างถูกต้อง
เปิดใจรับฟังมุมมองที่แตกต่าง
ฝึกคิดในมุมมองที่แตกต่าง
ฝึกสนทนากับคนที่มีมุมมองแตกต่าง
“เราทุกคนล้วนมีมุมมองที่ จำกัด และจะกลายเป็นอุปสรรคหากยึดติดในมุมมองของตนอย่างมีอคติ”
- พัฒนาตัวเองอย่างถูกต้อง
เริ่มต้นที่ชนะทางความคิด จิตใจ และจะชนะทางกายภาพ
“จงยอมรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ ความคิด แม้ต้องเจ็บปวด ทั้งนี้ก็เพื่อจะสามารถชนะ 7 จุดอ่อนในตัวเองได้”
ที่มา
จุดอ่อนของมนุษย์ | Know Yourself