Copyright © All rights reserved | This template is made with by Colorlib

Next Big Event:

บทความในหมวด

โลกเราวันนี้

โลกเราวันนี้

ผลวิจัยไทย ต่างชาติชี้ 25ปี กรุงเทพฯจมบาดาล

2010-07-15 Games 2,529

ข้อมูลใหม่ควันหลงสึนามิ ประเทศไทยเจอ 2 เด้ง ผืนแผ่นดินขวานทองโดยรวมทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย กลับเพิ่มขึ้น กรุงเทพฯ แผ่นดินต่ำปีละ 15 มม. ส่วนระดับน้ำเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า นักวิชาการเตือนเหลือ เวลาเตรียมป้องกันอีกแค่ 25 ปีเท่านั้นก่อนกรุงเทพฯจะจมน้ำ ระบุเรื่องใหญ่กว่าแผนปรองดอง เพราะเป็นเรื่องกายภาพของประเทศ แต่ยังดีแผนที่ประเทศไทยยาวขึ้นอีก 60 ซม.

 

เมื่อวันพุธ โครงการวิจัยร่วมไทย-ยุโรป GEO2TECDI เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทย และสหภาพยุโรปที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสหภาพยุโรป ในโครงการตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินและ ระดับน้ำทะเลโดยใช้เทคโนโลยี Space-geodetic เปิดเผยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยและการลดระดับของแผ่น ดินในอ่าวไทย

 

ผลวิจัยระบุว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยกำลังเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และตรวจพบแผ่นเปลือกโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดระดับลงอย่างรวดเร็วหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน สุมาตรา-อันดามัน เมื่อเดือนธันวาคม 2547 งานวิจัยไม่เพียงแต่พบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยบริเวณอ่าวไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ โลกประมาณ 2 เท่า แต่ยังพบการลดระดับของเปลือกโลกในบริเวณประเทศไทยที่น่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลให้การคาดการณ์เหตุการณ์ใน อนาคตเกี่ยวกับการที่กรุงเทพฯ กำลังค่อยๆ จมลงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

 

นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเลในช่วง ปี 2536-2551 ในบริเวณห่างจากชายฝั่งออกไป พบว่าระดับน้ำทั่วทั้งอ่าวไทยกำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยไม่พบบริเวณใดที่มีค่าลดลง

 

และข้อมูลจากการวัดด้วยสัญญาณดาวเทียมจีพีเอสด้วยเทคนิคที่ให้ความเที่ยงตรง สูงในบริเวณเกาะภูเก็ต ชุมพร และชลบุรี ตั้งแต่ปี 2537 แสดงให้เห็นว่าก่อนเกินแผ่นดินไหวใหญ่ปี 2547 แผ่นเปลือกโลกบริเวณอ่าวไทยยกตัวขึ้นอย่างช้าๆ ด้วยอัตราค่อนข้างคงที่ แต่หลังแผ่นดินไหว แผ่นเปลือกโลกลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ที่ตรวจวัดได้ในปัจจุบันประมาณ 10 มม.ต่อปี


ส่วนการเคลื่อนตัวทางราบพบว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 เกาะภูเก็ตเคลื่อนตัวไปแล้ว 70 ซม. และ กทม. 21 ซม.

 

นอกจากนี้งานวิจัยใช้เทคนิคการประมวลผลภาพจากดาวเทียมเรดาร์ "PSInSAR" ตั้งแต่ปลายปี 2548-ต้นปี 2553 พบว่าบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก (สมุทรปราการ) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ และทางใต้ของปทุมธานี เป็นบริเวณที่ยังมีการทรุดตัวในอัตราที่สูงกว่า 15 มม.ต่อปี ขณะที่บริเวณอื่นๆ ของกรุงเทพฯ การทรุดตัวอยู่ที่ระดับ 10 มม.ต่อปี

 

พ.อ.เอกภพ ภาณุมาศตระกูล จากกรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า การวิจัยหาผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทั้งแนวราบและแนวดิ่งในประเทศไทย โดยใช้ระบบจีพีเอสถือว่าเป็นการนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้เป็นครั้งแรกของ โลก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการวัดระดับการทรุดตัว แต่ก็เป็นการวัดแบบภายใน ไม่ใช่การมองจากภายนอกที่ใช้ระบบดาวเทียม ซึ่งทำให้รู้ว่าการทรุดตัวนั้นเป็นการทรุดตัวทั้งประเทศในระดับไม่ต่ำกว่า 1 มม.ต่อปี

 

ส่วนการที่ประเทศไทยยาวขึ้นถึง 60 ซม.ในรอบ 5 ปีหลังการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และเกิดคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 เกิดจากผลกระทบหลังการเกิดแผ่นดินไหวและการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ผลกระทบที่ตามมาไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อก แต่ศัพท์วิชาการเรียกว่า Post-seismic มีการดึงประเทศไทยให้ยาวขึ้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าหากวัดจากภาคเหนือ จ.ลำปาง-จ.ภูเก็ต ไทยยาวขึ้น 60 ซม.

 

"หากแยกเป็นรายจังหวัดที่มีการปักหมุดฐานพบว่ามีการยืดขยายตัว ได้แก่ จ.ลำปาง 8.4 ซม. ศรีสะเกษ 10.0 ชลบุรี 21.8 อุทัยธานี 17.8 ชุมพร 45.7"

 

ศ.ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า เชื่อว่าไทยมีเวลาเหลือดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาดินทรุดตัวและน้ำท่วมประมาณ 20-25 ปีเท่านั้น ส่วนการป้องกันจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่คณะวิจัยจะต้องหาทางศึกษาวิจัยต่อไป

 

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทรุดตัวของประเทศไทยเรารู้มานานแล้ว แต่ก่อนวัดได้ในชั้นตะกอน แต่ไม่ได้วัดลงไปลึกๆ ถึงชั้นหิน แต่ไม่รู้หลังการเกิดสึนามิว่ามีการทรุดตัวเท่าไหร่ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นความชัดเจนที่บอกได้ว่าประเทศไทยกำลังทรุดตัวลงมา เรื่อยๆ ซึ่งหลังจากนี้เราคงต้องหาความชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกในช่วง 2-3 ปี ในแง่ของผลกระทบในแต่ละพื้นที่ท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร และคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่รัฐบาลจะต้องสนใจมากกว่าเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นแค่ผลทางความคิด แต่ปัญหาการทรุดตัวเป็นเรื่องทางกายภาพของประเทศ

 

รศ.ดร.อิทธิ ตรีสิริสัตยวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงการทรุดตัวและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย ว่าน้ำทะเลในอ่าวไทยกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจุดก้นอ่าวปริมาณน้ำเพิ่ม สูงขึ้นอย่างชัดเจน และประมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 ซม.ต่อปี

 

มร.Wim Simons จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ประเทศเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในทีมวิจัยโครงการนี้ กล่าวว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในเกาะสุมาตราเมื่อปี 2547 ถือว่ามีความรุนแรงอันดับ 3 ของโลก จึงทำให้การวิจัยจากกลุ่มอียูพุ่งเป้ามาที่ประเทศกลุ่มนี้ รวมทั้งไทย ซึ่งผลการวิจัยพบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ ประเทศไทยทรุดตัวลง สวนทางกับ ประเทศอินโดนีเซียแถบเกาะสุมาตราที่ประเทศยกตัวสูงขึ้น.

 

 

ที่มา

www.thaipost.net


| โลกเราวันนี้

เข้าชมแล้ว 2,929,848 ครั้ง | ทั้งเว็บออนไลน์   3 ท่าน | หน้านี้ออนไลน์   1 ท่าน
Page generated in 0.0163 seconds ! ( 13 query)